สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ต้องขออภัยด้วยที่ทางแอดมินห่างหายไปนาน วันนี้จะขอมาแชร์หัวข้อที่มีคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากนั่นคือ “การนอนหลับนั่นเอง” ซึ่งบทความการนอนนี้จะขอแบ่งออกเป็นบทความย่อยประมาณ 3 บทความด้วยกันเนื่องจากเนื้อหาสาระมีจำนวนมากและอยากจะใช้เวลาอธิบายเพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการนอนไปพร้อม ๆ กัน
ซึ่งบทความจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 บทความโดยมุ่งเน้นเนื้อหาดังนี้
- ทำไมต้องนอนหลับตรงเวลา
- ประโยชน์ของการนอน
- โทษจากการนอนหลับไม่เพียงพอ
ซึ่งในแต่ละบทความจะนำ Case Study ที่น่าสนใจจากหนังสือเรื่อง Why We Sleep ของ คุณแมทธิว วอร์คเกอร์ (Matthew Walker) มาแชร์ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้ศึกษากันดูนะครับ ถ้าพร้อมแล้วเราไปเริ่มบทแรกกันเลย !
เข้าใจวัฏจักรการนอนหลับ
[1] อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้นแล้วว่าการนอนหลับนั้นมีประเภทของมัน ซึ่งจะแสดงลักษณะเฉพาะในบริบทที่อยู่ในขั้นของการนอนนั้น ๆ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านก็น่าจะเคยได้ยินคำว่า หลับตื้น, หลับลึก และ หลับฝัน แน่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า หลับฝันดี ก็มักจะเป็นคำอำลาก่อนจะแยกย้ายกันเข้านอนของหลายครอบครัว
คำถามคือสิ่งที่เราเข้าใจกันมานั้นถูกต้องหรือไม่ ? คำตอบคือ ถูกต้องแต่ไม่ทั้งหมดครับ จริงอยู่ที่คนเรามีขั้นของการหลับ 3 แบบดังกล่าวแต่อันที่จริงแล้ว คำว่าหลับตื้นและหลับลึกนั้นเป็นการหลับประเภทเดียวกันหรือที่เราเรียกว่า NREM stage (Non Rapid Eye Movement) คือสภาวะที่หลับแล้วกล้ามเนื้อลูกตาทั้ง 2 ข้างไม่มีการกลอกไป-มา ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 Stages ด้วยกันดังรูปที่แสดงไว้ด้านล่าง จะเห็นได้ว่าระดับของ Stage ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ขนาดของคลื่นไฟฟ้าในสมองเป็นลูกคลื่นที่ใหญ่ขึ้นและช้าลงเช่นกัน
ต่อไปจะเป็นขั้นที่เราเรียกกันว่า หลับฝัน หรือที่ทางวิชาการเรียกว่า REM (Rapid Eye Movement) กล่าวคือเป็นสภาวะที่เราฝันเป็นเรื่องราวตามปกติที่เจอกันทุก ๆ คืน กล้ามเนื้อลูกตาจะกลอกไปมาอย่างรวดเร็ว และรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าในสมองจะเล็กลงและมีความถี่สูงมากดังรูปด้านล่าง ซึ่งจะเห็นได้ว่ารูปแบบนั้นใกล้เคียงกับช่วงที่เราตื่นอยู่
มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะสงสัยว่า เอ…แล้วระดับของการนอนหลับว่าหลับลึกหรือหลับตื้นนั้นเขาใช้คลื่นสมองมาแบ่งได้อย่างเดียวเลยหรือ ? คำตอบคือการแบ่งด้วยคลื่นสมองเป็นส่วนหนึ่งครับ แต่ระดับของตื้นหรือลึกนั้นนักวิทยาศาตร์ทำการทดลองโดยดูว่าเมื่อหลับลงไปแล้วปลุกง่ายหรือปลุกยาก หากปลุกง่ายก็จะเรียกว่าหลับตื้น แต่ถ้าปลุกยากกว่านั่นแหละครับคือหลับลึก
แล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบอีกเช่น ระดับการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ ยกตัวอย่างเช่น ท่านผู้อ่านเคยอุ้มลูกหรือหลานวัยกำลังซนที่หลับบนรถระหว่างทางกลับจากมื้อเย็นไหมครับ จังหวะที่อุ้มขึ้นมานอนบนเตียงกล้ามเนื้อของเด็กจะไม่สามารถคงสภาพให้คอตั้งตรงแขนและขาตึงได้ หรือเรียกได้ว่าตัวอ่อนปวกเปียกกันเลยทีเดียว เป็นผลสืบเนื่องจากการนอนจะทำให้กล้ามเนื้อลายอยู่ในสภาวะที่ผ่อนคลายนั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์ยังได้ทำการทดลองต่อว่าการนอนหลับของคนเราในแต่ละคืนมีลักษณะเป็นอย่างไร จากรูปด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างของวัฎจักร (Cycle) การนอนหลับที่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบภายในหนึ่งคืนหรือเรียกว่า Hypnogram ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 8ชั่วโมง ตั้งแต่ เที่ยงคืนจนถึง 8 โมงเช้า ในแต่ละคืนจะประกอบด้วย NREM และ REM สลับกันไปทุก ๆ 90 นาที (โดยประมาณ) ซึ่งจะเริ่มต้นที่ NREM ที่มากกว่าในวัฏจักรแรก ๆ และ REM จะมากกว่าในช่วงวัฏจักรหลัง ๆ ก่อนจะตื่นนอน ดังนั้นไม่แปลกที่หลายคนจะรู้สึกว่าจดจำความฝันก่อนตื่นนอนได้ชัดเจนกว่าราวกับว่าเกิดขึ้นจริง หรือหลังจากนาฬิกาปลุกแล้วเรากดเลื่อน (Snooze) ไปอีก 10 นาที เราก็จะสามารถฝันต่อเรื่องนั้นได้ทันที
ขอบคุณที่มาจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Hypnogram
แล้วเราจะรู้เรื่องวัฏจักรนี้ไปทำไมล่ะ ?
แน่นอนว่าการนอนยังมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนั้นประโยชน์ที่เราจะได้จากการนอนแบบ REM หรือ NREM ย่อมที่จะต้องแตกต่างกันด้วย สมมุติว่าคุณนอนดึกเกินเวลาปกติของคุณ (ยกตัวอย่างเช่น เที่ยงคืน) ออกไปเป็นตี 2 คำถามคือ เราจะสูญเสียเวลานอนไปเท่าไหร่ครับ ?
คนส่วนใหญ่มักจะตอบว่าปกตินอน 8 ชั่วโมงแต่วันนี้นอน 6 ชั่วโมง ก็หายไป 2 ชั่วโมง คิดเป็นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ดูเป็นตัวเลขที่ไม่ได้เยอะอะไรถูกไหมครับ แต่หากท่านผู้อ่านลองดูจากกราพ Hypnogram ด้านบบบนจะเห็นได้ว่า ช่วงที่เราหลับลึกหรือ REM ขั้น 3 – 4 จะอยู่ช่วงต้นของการนอนหลับซะเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหากเราหลับช้าไป 2 ชั่วโมงอาจจะกินเวลาของหลับลึกไปถึงประมาณ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ส่วนหากใครเป็นคนที่มักจะชอบตื่นเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนหรือมีงานที่จะต้องตื่นเช้าตรู่ในบางครั้ง เช่นกันครับ เมื่อเราคำนวณเวลาของการหลับฝันหรือ NREM ไปประมาณ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ไปเช่นกัน
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ถ้าสมมุติเรานอนดึกไปสองชั่วโมงแล้วพยายามนอนให้ได้ครบ 8 ชั่วโมง จะได้ผลประโยชน์จากการนอนเหมือนกับนอนปกติไหม ?
เป็นคำถามที่ดีครับ แต่คำตอบคือ ไม่ เนื่องจากปกติแล้วร่างกายของคนเราจะมี “นาฬิกาชีวภาพ” หรือที่เรียกกันว่า “Circadian Rhythm” ซึ่งเป็นนาฬิกาสำหรับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในรอบประมาณ 24 ชั่วโมง
ยกตัวอย่างการทำงานของนาฬิกาชีวภาพเช่น อุณหภูมิของแกนกลางร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปใน 1 วัน หรือ ปริมาณการหลั่งสารเมลาโทนินซึ่งทำให้ง่วงซึ่งจะหลั่งน้อยในช่วงเช้า- เที่ยง และจะเริ่มมากขึ้นในช่วงดึก
มีการทดลองง่าย ๆ แต่ให้ผลลัพธ์ที่น่าตกตะลึงเกี่ยวกับนาฬิกาชีวภาพของสิ่งมีชีวิต โดยการทดลองนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1729 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสนามว่า ฌ็อง – ฌัก ดอร์ตู เดอ แมร็อง (Jean-Jacques d’Ortous de Mairan) ได้ทำการทดลองกับต้นไมยราบ ซึ่งเป็นวัชพืชบ้าน ๆ ที่เราพบได้ทั่วไป
โดยปกติแล้วพฤติกรรมของไมยราบนั้นจะกางใบออกรับแดดในช่วงที่มีแดดจ้าหรืออาจจะเพียงน้อยนิดก็ตามและใบจะอ้อนล่วงโรยล้าหุบลงเมื่อดวงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไป แมร็องตั้งข้อสังเกตว่า หากปราศจากปัจจัยกระตุ้นอย่างแสงแดดแล้วต้นไมยราบจะมีพฤติกรรมกาง-หุบใบอย่างไร
แรกสุดเขานำต้นไมยราบวางไว้กางแจ้งเพื่อสังเกตพฤติกรรมเมื่อมันได้รับแดดช่วงกลางวันและกลางคืน ผลลัพธ์ก็เป็นไปตามที่คาดคือมันก็กางและหุบใบตามปกติในระยะเวลาที่แสงแดดแตกต่างกัน จากนั้นเขาจึงนำไมยราบเข้าไปอยู่ในกล่องปิดผนึก 24 ชั่วโมง เพื่อตัดขาดจากแสงแดดทั้งกลางวันและกลางคืน ระหว่าง 24 ชั่วโมงนั้นเขาได้ทำการสังเกตพฤติกรรมของต้นไมยราบ แล้วผลลัพธ์ที่เขาตกตะลึงก็เกิดขึ้น เพราะว่าไมยราบกางใบออกราวกับได้อาบแดดในช่วงเวลากลางวันในที่มืดมิดและหุบใบลงเมื่อหมดวันลงราวกับนัดกันมาแม้จะไม่มีสัญญาณของพระอาทิตย์ตกดินคอยบอก
ผลการทดลองนี้ทำให้เราทราบได้ว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีจังหวะเวลารอบวันเป็นของตนเองโดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยจากโลกภายนอกมากระตุ้นเช่นแสงอาทิตย์ตามที่ได้ยกตัวอย่างมา
เกริ่นนำมาซะยืดยาวขนาดนี้ท่านผู้อ่านพอจะเดาออกไหมครับว่าทำไมการนอนชดเชยเวลาที่นอนดึกเกินเวลาปกติจึงไม่สามารถเทียบเท่าการเข้านอนตรงเวลา แน่นอนครับเพราะเมื่อเราเข้านอนตรงเวลา นาฬิกาชีวภาพของเราจะถูกตั้งไว้ให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นรูปแบบ ไม่แปลกเลยที่เราอาจจะตื่นก่อนนาฬิกาปลุก 2 – 3 นาที เป็นประจำ โดยเฉพาะหากเราเป็นพนักงานที่เข้างานตรงเวลาแล้วต้องตื่นเวลาเดิม ๆ ในตอนเช้าแล้วย่อมเกิดความเคยชินจนส่งผลให้ร่างกายตั้งนาฬิกาชีวภาพได้แม่นยำขึ้น
แต่นาฬิกาชีวภาพใช่ว่าจะเท่ากันในทุกคนนะครับ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดว่าเราจะง่วงเวลาไหนตื่นง่ายเวลาไหน โดยเราจะเรียกประเภทของคนที่แรกต่างกันว่า มีโครโนไทป์ (Chronotype) ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะขออธิบายในบทถัดไปนะครับ
สรุปแล้วเราได้อะไรจากบทนี้บ้าง ? แน่นอนว่าบทนี้เป็นเพียงการเกริ่นนำ (ที่อาจจะยาวไปหน่อย) แต่อยากจะให้ท่านผู้อ่านตระหนักไว้คือ การนอนไม่เป็นเวลาส่งผลเสียมากกว่าที่เราคิด ไม่ว่าจะมาจากกิจกรรมหรือสิ่งที่บริโภคเข้าไปล้วนมีผลต่อการนอนหลับของเราทั้งสิ้น สุดท้ายที่ผมอยากฝากไว้คือ พรุ่งนี้ของเรากำหนดด้วยกิจกรรมคืนนี้ของเรา นะครับ หากวันนี้คุณเข้านอนและหลับอย่างมีคุณภาพ อีกวันของคุณก็จะมีคุณภาพเช่นกันเพราะเรามีความคิดที่เฉียบแหลมและพลังงานที่เหลือล้นในการจัดการกับงานนะครับ สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านหลับลึกและหลับฝันดีครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
[1] Why We Sleep, Matthew Walker,2563, บทที่ 2 คาเฟอีน จ็ตแล็ก และเมลาโทนิน, สำนักพิมพ์ Bookscape
ทำไมถึงต้อง”นอนหลับตรงเวลา” ?
วันนี้จะขอมาแชร์หัวข้อที่มีคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากคือ “การนอนหลับนั่นเอง” เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการนอน
‘คลื่นเสียงบำบัด’ อีกศาสตร์แห่งการผ่อนคลาย
การผ่อนคลายจากความเครียดนั้นทำได้หลายวิธีด้วยกัน แม้ว่าเพิ่งปลดล็อคดาวน์ได้ไม่กี่วัน แต่ครั้นว่าจะให้ออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่หรือออกไปเดินเที่ยวเล่นเหมือนอย่างเคยอาจจะดูเป็นเรื่องอันตรายไปเสียหน่อย ดังนั้นในบทความนี้เราจึงจะมาแนะนำวีธีการผ่อนคลายง่าย ๆ ขอเพียงแค่คุณมีสมาร์ทโฟนและหูฟังที่พอใช้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
นี่เราเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ หรือเปล่านะ ?
ในทุก ๆ วันที่เราใช้ชีวิตประจำวันกันอยู่นั้น อารมณ์ของคนธรรมดาทั่วไปก็ย่อมต้องมีขึ้นบ้างลงบ้างเป็นธรรมดาเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย คำถามคือ อารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?