สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาหลายระลอกที่กินเวลายาวนานเกือบ 2 ปีทำให้คนไทยรวมถึงชาวต่างชาติหลาย ๆ คนต้องใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เลิกจ้างงาน วัคซีน เคอร์ฟิว และอะไรต่อมิอะไรทั้งหลายที่ประดากันเข้ามา ส่งผลให้หลาย ๆ คนรู้สึกท้อแท้ หมดอาลัยตายอยาก อาจจะถึงกระทั่งที่ว่าไม่อยากจะทำอะไรเลย ซึ่งภาวะแบบนี้นี่แหละครับที่เขาเรียกกันว่า “ภาวะหมดไฟ” (Burnout)
วันนี้เราจะมาตั้งข้อสังเกตว่าภาวะดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นอย่างไรและเราจะหาวิธีการป้องกันได้อย่างไร เพื่อให้สุขภาพจิตของทั้งตัวเราเองและคนรอบข้างยังดีอยู่เสมอ
บทความที่หยิบยกขึ้นมาอ้างอิงบางส่วนผมได้นำมาจากนิตยสารชีวจิตฉบับที่ 550 ประจำวันที่ 1 ก.ย. 2564 ของสำนักพิมพ์อมรินทร์กรุ๊ปนะครับ ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
ภาวะหมดไฟ (Burnout) มีอาการอย่างไร
ตามที่ได้เกริ่นไว้ด้านบนว่าเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศต้องเผชิญความยากลำบากในการต่อสู้กับโควิด-19 กันเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าสะสมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบุคลากรด้านหน้าเช่น หมอ, พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธาณสุขอีกหลาย ๆ ท่าน ด้วยไวรัสชนิดนี้มีการกลายพันธุ์ที่รวดเร็วและส่งผลกระทบความรุนแรงในวงกว้างทำให้เจ้าหน้าที่ทุกท่านเกิดความเครียดสะสม ไหนจะจำนวนผู้เสียชีวิตที่ดูเหมือนนับวันจะเพิ่มขึ้น วัคซีนที่ล่าช้าและยังต้องดูแลผู้ป่วยอาการหนักอีก
นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ต้องกักตัวก็เป็นกลุ่มตัวอย่างที่เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน เพราะต้องถูกโดดเดี่ยวจากครอบครัว, คนรัก หรือแม้กระทั่งสังคมที่เคยรายล้อมไปด้วยผู้คน ตื่นเช้ามาก็อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมเดิม ๆ เป็นเวลานาน
[1] ข้อมูลจาก The United States National Library of Medicine สหรัฐอเมริกา ระบุถึงอาการที่บ่งชี้ว่ากำลังเกิดอาการหมดไฟ 5 ข้อ ดังนี้
- หมดแรง : รู้สึกว่ากำลังวังชาวูบลง เช่นเดียวกับกำลังใจที่ก็เหือดหายไปเช่นกัน ไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์หรือแก้ปัญหาอย่างที่เคยทำได้
- ความสนใจในงานลดลง : เริ่มมีปัญหาขาด ลา มาสาย หรือแยกตัวออกจากเพื่อนร่วมงาน ขาดความกระตือรือร้นที่จะทำงานให้เสร็จตามปกติ
- ผลงานแย่ลง เริ่มส่งงานช้า : ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง
- ขาดสมาธิ : ไม่สามารถจดจ่อกับงานที่ทำอยู่ตรงหน้าได้ ขาดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในการทำงานเมื่อเปรียบเทียบกับที่เคยทำได้ก่อนหน้านี้
- มีปัญหาเรื่องระบบการย่อย : หลาย ๆ คนมักบ่นว่าเวลาเครียดลงกระเพาะ และจะปวดท้องหรือเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องสีย ก็เป็นได้ เนื่องจากขณะที่เราเครียดจะให้ระบบย่อยอาหารเราทำงานไม่ปกติ
หมดไฟ กับ ซึมเศร้า ไม่เหมือนกัน
เป็นคำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยรวมถึงตัวผมเองด้วย งานวิจัยนี้ในอธิบายไว้ว่า เมื่อคนเราเกิดภาวะหมดไฟ อาการหลัก ๆ จะแสดงออกมาในรูปแบบของการหมดแรง , ขาดความสดชื่นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ขณะที่โรคซึมเศร้ามีอาการหลักคือ รู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง และมีความคิดเกี่ยวกับความตายผุดขึ้นมาเป็นระยะ ๆ
แต่อย่างไรก็ตามทั้งภาวะหมดไฟหรือซึมเศร้าก็ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ดีต่อสุขภาพจิตทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ผมจึงนำวิธีรับมือกับภาวะหมดไฟมาฝากทุกท่านกันครับ
ภาวะหมดไฟ ป้องกันได้ !!
ทุกสิ่งล้วนไม่ยั่งยืนไม่ว่าจะสุขหรือจะทุกข์ ภาวะหมดไฟก็สามารถเยียวยาให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน โดยการปรับทัศนคติและปรับกิจกรรม ดังนั้นผมจะขอนำบทหนึ่งของหนังสือ “ที่…หัวมุมถนน (Closer than you think)” ของ คุณรวิศ หาญ-อุตสาหะ CEO ของเครื่องสำอางแบรนด์ดังอย่าง “ศรีจันทร์” ของประเทศไทย
คุณรวิศได้กล่าวถึงภาวะ Burnout ไว้ว่าที่จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นจากเท่างานซะทีเดียว แต่เกิดจากทํศนคติที่เรามีกับงานกับคนรอบข้างเรากับวิธีที่เราบริหารจัดการ “ตัวเอง” มากกว่า ดังนั้นจึงได้เสนอวิธีจัดการกับภาวะ Burnout ไว้ประมาณ 15 ข้อ แต่ผมจะขอหยิบยกเฉพาะข้อที่คิดว่าผมชอบมาแชร์ให้ทุกท่านได้อ่านกันนะครับ
- บันทึกชีวิตที่หายไปของคุณอย่างละเอียด แล้วจะตกใจกับเวลาที่หายไป
บางคนที่คิดว่าชีวิตของตัวเองแทบไม่มีเวลาว่างเว้นจากการทำงานเลย ทั้งไม่มีเวลาออกกำลังกาย มีเวลาให้พักผ่อนหย่อนใจจากน่าเบื่อหน่าย ต่าง ๆ นา ๆ เหล่านี้อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้ใส่ใจกับเวลาให้แต่ละวันอย่างจริงจัง หากเราทำบันทึกกิจกรรมแล้วอาจจะพบได้ว่าบางอย่างที่ทำนั้นไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลยเช่น หลังจากการทำงานพอกลับมาถึงที่พักเราอาจจะนั่งไถฟีดเฟซบุ๊กเป็นชั่วโมงโดยที่เราก็ไม่ได้เอะใจอะไรเลยเลยจากเป็นความเคยชิน ทั้งที่จริง ๆ เราควรนำเวลาตรงนั้นไปทำอะไรก็ได้ให้เกิดประโยชน์กับร่างกายหรือจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการได้ทำงานอดิเรกที่ชอบหรือกาพูดคุยกับคนใจครอบครัว
- ปรับทัศนคติกับงาน
คนญี่ปุ่นมองว่างานเป็นการขัดเกลาจิตใจของตนเองดังนั้น งานสำหรับคนญี่ปุ่นไม่เชิงเป็นงานซะทีเดียว แต่เป็นสิ่งที่
มีเกียรติที่ได้ทำ ไม่ว่างานนั้นคนภายนอกจะมองว่าสำคัญมากน้อยเพียงใดก็ตาม เขาไม่ได้ทำงานเพื่อแค่หน่วยงานหรือบริษัท แต่เขาทำงานเพราะรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติด้วย
- กำหนดกรอบเวลาใช้ชัดเจนและเรียงระดับความสำคัญให้เป็น
เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่า งานที่รับผิดชอบนั้นไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายในวันเดียว ชีวิตเรายังมีเรื่องอื่นอีกมากมายที่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นการจมจ่มอยู่กับงาน 100 % ของเวลาไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เราควรจะจัดเรียลำดับความสำคัญให้เหมาะสมเช่น หากเราเลิกงาน 17.00 น. แต่งานยังไม่เสร็จ เป็นไปได้ไหมว่าเราจะนำงานกลับมาทำที่บ้านซักพักหนึ่งหลังทานข้าวกับครอบครัวแล้ว และกำหนดเวลาที่จะทำงานต่อให้ชัดเจนไม่ให้รบกวนเวลานอน หรือสามารถนำไปทำพรุ่งนี้ได้ไหม
เรื่องนี้ส่วนตัวผมคิดว่าต้องกำหนด Deadline ที่ชัดเจนและแบ่งระดับความสำคัญของแต่ละงานได้ เพราะหากเรารู้แล้วว่างานไหนด่วนและสำคัญก็ควรจะเป็นงานที่จัดการก่อนงานไม่ด่วนแต่สำคัญถูกต้องไหมครับ
- รักษาร่างกายให้แข็งแรง และ Stay Active
แน่นอนว่าการไม่รักษาสุขภาพนอกจากจะทำให้หุ่นไม่ดีแล้วยังส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย มีคำกล่าวว่าสุขภาพใจที่ดี เริ่มต้นจากสุขภาพกายที่ดี เป็นคำกล่าวที่ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด เพราะหากร่างกายเราไม่แข็งแรงก็จะทำให้เราป่วยออด ๆ แอด ๆ ทำอะไรก็ดูจะเหนื่อยไปหมด แต่หากเราออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทานอาหารที่มีประโยชน์กจะช่วยให้ปัญหาสุขภาพที่คอยรังควาญเราหายไป และทำให้เรามีเวลาโฟกัสกับงานได้มากกว่าเดิมด้วย
- ยิ้มและหัวเราะบ่อย ๆ
เมื่อคนเรายิ้มหรือหัวเราะร่างกายเราจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข หรือ “เอ็นดรอฟิน” ออกมา [3] ทำให้มีความสามารถในการต่อสู้กับความกลัวและความเครียดได้ดีกว่าเดิม และนอกเหนือจากนั้นทุกท่านเคยสังเกตหรือไม่ว่า เมื่อเราอยู่ใกล้คนที่อารมณ์ดีหรือหัวเราะง่าย ยิ้มง่าย ก็จะพลอยทำให้คนรอบข้างอารมณ์ดีไปตาม ๆ กัน ซึ่งจะส่งผลให้บรรยากาศในที่ทำงานหรือที่บ้านดูอบอุ่นขึ้นน่าทำงานร่วมกัน
5 ข้อดังกล่าวที่ผมได้แนะนำไปหากทุกท่านสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานได้ ก็อาจจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยง, ป้องกัน หรือบรรเทา ภาวะหมดไฟได้ในที่สุดครับ
สุดท้ายขอให้ผู้อ่านทุกท่าน Stay Safe และ Stay Healthy นะครับ แล้วพบกันใหม่บทความหน้า สวัสดีครับ
[1] ศิริกร โพธิจักร,“Mind” isuues on Covid-19 , นิตยสาร ชีวจิต ฉบับที่ 550 , Page 8
[2] รวิศ หาญอุตสาหะ, ที่…หัวมุมถนน, Chapter 11 , ไม่อยาก Burnout ทำยังไงดี, Page 99, ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2561
[3] Gidanan ganghair, หัวเราะ เป็นยาวิเศษ, หัวเราะ เป็นยาวิเศษ – Thaihealth.or.th | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำไมถึงต้อง”นอนหลับตรงเวลา” ?
วันนี้จะขอมาแชร์หัวข้อที่มีคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากคือ “การนอนหลับนั่นเอง” เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการนอน
‘คลื่นเสียงบำบัด’ อีกศาสตร์แห่งการผ่อนคลาย
การผ่อนคลายจากความเครียดนั้นทำได้หลายวิธีด้วยกัน แม้ว่าเพิ่งปลดล็อคดาวน์ได้ไม่กี่วัน แต่ครั้นว่าจะให้ออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่หรือออกไปเดินเที่ยวเล่นเหมือนอย่างเคยอาจจะดูเป็นเรื่องอันตรายไปเสียหน่อย ดังนั้นในบทความนี้เราจึงจะมาแนะนำวีธีการผ่อนคลายง่าย ๆ ขอเพียงแค่คุณมีสมาร์ทโฟนและหูฟังที่พอใช้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
นี่เราเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ หรือเปล่านะ ?
ในทุก ๆ วันที่เราใช้ชีวิตประจำวันกันอยู่นั้น อารมณ์ของคนธรรมดาทั่วไปก็ย่อมต้องมีขึ้นบ้างลงบ้างเป็นธรรมดาเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย คำถามคือ อารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?