งีบหลับ ยังไงให้สดชื่นทั้งวัน : นาฬิกาบอกเวลาเที่ยงตรงมักจะเป็นเวลาที่หลาย ๆ คนพักทานข้าวกลางวันกัน โดยปกติแล้วการทานข้าวกลางวันมักกินเวลาประมาณ 30 – 45 นาที และมักจะเหลือเวลาอีกประมาณ 15 นาที ก่อนที่จะหมดเวลาพักเที่ยงและต้องทำงานต่ออีกประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง เศษของเวลาที่เหลือหลังการทานอาหารมื้อใหญ่ ปกติกิจกรรมส่วนที่อาจจะพบเห็นได้ก็คือ ดื่มกาแฟ, พักสูบบุหรี่, เล่มเกมส์กับเพื่อนร่วมงาน หรือซื้อขนมกรุบกรอบมาทานเล่น ๆ พร้อมนั่งคุยกัน
หลังจากผ่านมื้อเที่ยงไปประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ก็จะเริ่มมีอาการง่วงหนาวหาวนอนไปตาม ๆ กัน หลังจากนั้นทางออกของหลาย ๆ คนอาจจะเป็นเติมกาแฟเข้าไปอีกแก้วหรือออกไปสูบบุหรี่ให้หายง่วง แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ไม่ได้มีผลดีต่อสุขภาพเท่าไหร่นัก
ดังนั้นบทความนี้จะมาแนะนำวิธีที่จะทำให้กระปรี้กระเปร่าได้ทั้งบ่าย และช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเลยซักแดงเดียว ! วิธีดังกล่าวนั่นคือการงีบหลับ นั่นเอง
งีบหลับ นั้นสำคัญไฉน ?
ขอบคุณรูปภาพจาก Clocking off: the companies introducing nap time to the workplace | Guardian Small Business Network | The Guardian
หลาย ๆ คนมักมองว่าการงีบหลับนั้นเป็นพฤติกรรมที่อาจจะแสดงออกว่าเราเป็นคนเกียจคร้าน, ไม่ขยัน หรือ เฉื่อยชา แต่อันที่จริงแล้วการงีบหลับอย่างเหมาะสมนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิดเป็นอย่างมาก
บริษัทใหญ่ในโลกหลายแห่งของเราให้การยอมรับว่าการงีบหลับจะช่วยเพิ่มพลังสมองได้เป็นอย่างดี อาทิเช่นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีอย่าง Google [1] ก็มีวัฒนธรรมองกรณ์ที่ยอมรับเรื่องการงีบหลับในที่ทำงานเป็นเรื่องปกติ โดย Google ลงทุนเรื่องการงีบถึงขนาดว่ามี Nape Pot ซึ่งเป็นเตียงนอนยาวแบบพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อการงีบหลับอย่างมีประสิทธิภาพให้บริการในบริษัทหลายจุดด้วยกัน
เหตุใด Google ถึงให้ความสำคัญกับการงีบหลับขนาดนั้น ? เนื่องจากการงีบหลับในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้นมีประโยชน์มากมาย เพราะช่วงบ่ายของทุก ๆ วันมักจะเป็นช่วงที่คนเราตื่นตัวน้อยเนื่องจากวิวัฒนาการของร่างกายมนุษย์เราตั้งแต่อดีตนั้น เราถูกตั้งเวลาของร่างกายให้นอนวันละ 7 -8 ชั่วโมง และงีบหลับหลังเที่ยงอีกประมาณ 30 – 40 นาที [2] อีกเหตุผลหนึ่งคือช่วงบ่ายอุณหภูมิในร่างกายเราจะลดลงเล็กน้อย และเมลาโทนินจะหลั่งออกมาในปริมาณเล็กน้อยอีกเช่นกัน (ประชากรส่วนใหญ่) จึงทำให้เราอาจทำให้เราเกิดอาการง่วงขึ้นมาได้นั่นเอง
การทดลองชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยแคริฟอร์เนีย ซานดิเอโก เมื่อปี 2009 [2] ได้ทำการทดลองเพื่อที่จะหาคำตอบว่าการงีบหลับช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้จริงหรือไม่ โดยให้ผู้เข้าร่วมทำการทดลองทำแบบทดสอบโดยแบ่งการทดสอบเป็นสองช่วงคือก่อนงีบหลับและหลังงีบหลับ ผลจากเครื่องสแกน MRI (Magnetic Resonance Imaging : เป็นการสแกนการทำงานของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในสมอง) พบว่าเซลล์ประสาทของกลุ่มที่ได้งีบหลับนั้นทำงานได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้งีบหลับ และแทบจะทำงานได้ดีพอ ๆ กับช่วงเช้าเลยทีเดียว ส่วนกิจกรรมของสมองของกลุ่มที่ไม่ได้งีบหลับจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
งีบนานอาจจะแย่กว่าที่คิด
คำถามสำคัญที่มักพบบ่อย ๆ คือ แล้วต้องงีบเท่าไหร่ล่ะถึงจะพอ ? ผมจะขอยกตัวอย่างการทดลองจากหนังสือ The Power of When มาอธิบายว่าการงีบหลับเหมาะไหร่ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด
มีการศึกษาชิ้นหนึ่งจากออสเตรเลียได้แบ่งผู้เข้าร่วมทดลองทั้ง 24 คน ที่ไม่มีปัญหาการนอนหลับออกเป็น 5 กลุ่มเพื่อรับการทดลองดังนี้ กลุ่มที่หนึ่ง ไม่ได้งีบหลับ ส่วนสี่กลุ่มที่เหลือจะได้งีบหลับ 5, 10, 20, 30 นาที ตามลำดับ หลังจากที่ผู้เข้าร่วมทดลองได้งีบหลับในห้องทดลองในเวลา 15.00 น. ตามระยะเวลาดังกล่าว ต่อมาอีก 3 ชั่วโมงนักวิจัยขอให้ผู้เข้าร่วมทดสอบให้คะแนนความกระฉับกระเฉง พลังงานและความคิดความอ่านของตัวเองตั้งแต่ตื่นนอนว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ผลสรุปของคะแนนแต่ละกลุ่มเป็นดังนี้
- กลุ่มที่ได้งีบหลับ 5 นาที : พลังงานและความกระฉับกระเฉงไม่แตกต่างจากผู้ที่ไม่ได้งีบหลับ
- กลุ่มที่ได้งีบหลับ 10 นาที : พลังสมองเพิ่มขึ้นทันทีอย่างเห็นได้ชัดและรู้สึกแบบนั้นนานถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง
- กลุ่มที่ได้งีบหลับ 20 นาที : แสดงให้เห็นถึงพลังสมองที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยและต้องใช้เวลาประมาณ 35 นาทีกว่าจะเห็นผล แต่ประโยชน์ยังคงอยู่ถึง 2 ชั่วโมง
- กลุ่มที่ได้งีบหลับ 30 นาที : มีพลังสมองลดลงอย่างเห็นได้ชัดและเป็นแบบนี้ต่อไปอีก 50 นาที ก่อนจะมีพลังสมองเพิ่มขึ้นโดยคงอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
สรุปแล้วแล้วต้องงีบหลับเท่าไหร่ถึงจะดีล่ะ ?
จากการทดลองด้านบนหากเราต้องการประโยชน์จากการงีบหลับจริง ๆ ควรจะงีบหลับประมาณ 10 – 15 นาที เพื่อให้ตื่นมาสดชื่นและพลังสมองเพิ่มขึ้นในทันที
หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าทำไมการงีบหลับนาน ๆ ถึงไม่ได้ประโยชน์กันล่ะ ? เนื่องจากถ้าเรางีบหลับนานเกินไป อาจจะทำให้ร่างกายเข้าใจผิดว่านี่คือการนอนจริง ๆ และสั่งให้ร่างกายเข้าสู่โหมด Deep Sleep หากเรางีบนานเกินไปอาจส่งผลให้ตื่นมามีอาการสะลืมลือก็เป็นได้เพราะเราถูกปลุกจากภวังค์ของการหลับในโหมด Deep Sleep ก็เป็นได้
กล่าวโดยสรุปคือ หากเราต้องการใช้เวลาอันน้อยนิดที่เหลือจากหลังมื้อเที่ยงให้มีประโยชน์ที่สุดในแง่ของการเพิ่มพลังสมอง ขอแนะนำให้งีบหลับซักแปปนึงจะดีกว่าดื่มกาแฟในช่วงบ่ายหรือสูบบุหรี่เพื่อคลายความง่วง นอกจากจะเพิ่มพลังสมองแล้ว ในระยะยาวก็จะทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วยนะครับ ทั้งนี้ระยะเวลาการงีบที่ได้ผลก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย หากเป็นไปได้ให้เราเริ่มทดลองกับตัวเองดูว่าเวลาเท่าไหร่ที่เราควรใช้ไปกับการงีบนะครับ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกท่าน แล้วพบกันใหม่บทความหน้า สวัสดีครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
[2] The Power of When, Michael Breus, งีบหลับระหว่างวัน , Page 248 – 251